ปีนภูเขาไฟฟูจิ หนึ่งในสุดยอดภารกิจพิชิตใจและกาย ปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 10 ก.ย.60

ปีนภูเขาไฟฟูจิ หนึ่งในสุดยอดภารกิจพิชิตใจและกาย ปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 10 ก.ย.60

การปีนภูเขาไฟฟูจิ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกประหนึ่งเทพเจ้าว่า “ฟูจิซัง” ในความสูง 3,776 เมตร ถือเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ใครเคยได้สัมผัสไม่อาจลืมลงเลยในชีวิตค่ะ จนขนาดที่มีคำกล่าวต่อๆ กันมาว่า “ไปปีนฟูจิครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นความท้ายทาย” และถ้าไปครั้งที่ 2 เป็นความบ้า ส่วนถ้ามีครั้งที่ 3 นี่เสียสติเลยแหละค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เราจะขอแชร์ประสบการณ์การไปปีนฟูจิของเรามาครั้งหนึ่งและครั้งเดียวในชีวิตพอค่ะ (ไม่มีครั้งที่สองแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่บ้าขนาดนั้น ฮ่าๆ) สำหรับภูเขาไฟฟูจิถือเป็นความสวยงามที่สุด ถ้ามองจากในระยะไกลนะคะ แต่ถ้าเราได้ปีน ภูเขาไฟฟูจิและใกล้ๆแล้ว จะรู้ว่าไม่ได้สวยงามเลยค่ะ เป็นความท้าทายและเหมือนเป็นการเอาชนะใจตนเองอย่างยิ่งยวด ความสวยงามและความท้าทายนี้ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้กล้าที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติขึ้นไปสู่ยอดเขา Mt.Fuji Summit ในตอนเช้าเพื่อชมแสงอาทิตย์แรกของวันบนโลกใบนี้ และแน่นอนค่ะว่า เมื่อได้ไปถึงยอดเขาแล้วมันคุ้มค่าที่สุด

Credit: ผู้เขียน

โฉมหน้า 9 คนไทย (จริงๆ อาจจะต้องนับเป็น 10 คน เพราะมีหญิงสาวที่ตั้งครรภ์แต่ยังไม่รู้ตัวอยู่ 1 คนด้วยค่ะ) ผู้กล้าในภารกิจนำธงชาติไทยไปสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิ…โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่างานจะเข้า เพราะธงชาติอยู่ในเป้ของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ พอมารู้ตัวอีกทีเราจึงต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องนำขึ้นไปจนถึงยอดสูงที่สุดให้ได้ ก่อนขึ้นไปถึงชั้น 5 ของฟูจิ ขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกสักหน่อย

Credit: ผู้เขียน

ยืดเส้นยืดสายกันก่อน ภูเขาไฟฟูจิเปิดต้อนรับให้นักท่องเที่ยวได้ปีนภูเขา ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนกันยายนของทุกปี สำหรับปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมถึง 10 กันยายน 2560

Credit: ผู้เขียน

เราขับรถมาจอดที่ชั้น 5 ของภูเขาไฟฟูจิเรียบร้อย นำอุปกรณ์ลงมาจัดเตรียมเสร็จพร้อมลุย มีการเขียนโปสการ์ดเตรียมไว้เลย เพื่อที่ว่าเอาไว้หย่อนตอนขึ้นไปที่ยอดฟูจิในชั้น 10 จะได้ไม่เสียเวลา

Credit: ผู้เขียน

มั่นใจมากว่าจะพิชิตชั้น 10 ได้ และน้องเบิร์ดคนนี้ก็ทำได้ในเวลาที่ดีเยี่ยมจริงๆ ปรบมือให้

Credit: ผู้เขียน

ภูเขาไฟฟูจิแบ่งออกเป็นทั้งหมด 10 สถานี (Station) สถานีแรกก็คือที่ตีนภูเขาเลย จนถึงจุดสูงสุดก็คือสถานีที่ 10 รถยนต์สามารถขึ้นไปได้จนถึงสถานีที่ 5 ค่ะก็เรียกว่าไปได้ครึ่งทางของระยะทางภูเขาไฟฟูจิทั้งหมดแล้ว เอ้า…โพสต์ท่าพร้อมออกศึกใหญ่

Credit: ผู้เขียน

ขึ้นฟูจิซังไปได้หลายเส้นทางจากสถานีที่ 5 เราเลือกเส้นทางโยชิดะ (Yoshida Trail) ความสูงที่จะต้องไปต่ออีกประมาณ 2,300 เมตร ใช้เวลา 5 ถึง 7 ชั่วโมงตอนขึ้นนะคะ ขาลง 3 ถึง 5 ชั่วโมง แต่เราใช้เวลาทั้งหมด 24 ชั่วโมงไปกลับค่ะ เราอ่อนมากจริงๆ แต่ใจมันเกินร้อย สู้ซิคะรออะไร

Credit: ผู้เขียน

จุดมุ่งหมายของเราคือชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าเพื่อไปเห็นแสงแรกของวันค่ะ ออกสตาร์ทเดินขึ้นไปตอนเย็น ประมาณ 5 โมงเย็น

Credit: ผู้เขียน

เราสวนกับคนไทยอีกคณะหนึ่งที่เพิ่งลงมาจากการปีนฟูจิซังค่ะ เลยถามไถ่กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ยิ่งคุยยิ่งอยากเปลี่ยนใจ กลับบ้านทันมั้ยนะ

Credit: ผู้เขียน

แต่เป้าหมายภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเราก็คือนำธงชาติไทยขึ้นไปสะบัดอยู่บนยอดภูเขาไฟฟูจิให้ได้ นั่นคือ mission ของเราในครั้งนี้ต้องสำเร็จๆ ท่องไว้ เดินต่อไปค่ะ อากาศดีกำลังเย็นสบายๆ

Credit: ผู้เขียน

ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ไม่มีหิมะและอากาศค่อนข้างดี และบนภูเขาก็จะมีจุดพักแบบกระท่อมให้บริการนักท่องเที่ยวเปิดทำการเป็นระยะๆ ด้วยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ไม่ต้องกลัวหลงทางนะคะ มีป้ายบอกชัดเจนเป็นระยะๆ ระหว่างชั้น 5 ไปถึงชั้น 6 ยังเป็นต้นไม้เขียวชอุ่ม แต่พื้นดินเป็นดินภูเขาไฟปนกรวดหยาบๆ ไม่ได้ชุ่มชื้นเหมือนภูเขาในบ้านเรา

Credit: ผู้เขียน

บอกก่อนว่าความยากของการปีนฟูจิซัง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสกิลการปีนเขานะคะ เพราะว่ามีแค่บางจุดเท่านั้นเองที่ชันและเป็นบริเวณหินกรวด ปีนไม่ยากค่ะเพราะมีป้ายบอกทางตลอดและมีป้ายเตือนเป็นระยะๆ แต่ความยากจริงๆ อยู่ที่ความบางเบาของอากาศและความกดอากาศค่ะ โดยสภาพร่างกายของบางคนที่ไม่พร้อมก็อาจจะทนรับสภาพกดอากาศไม่ไหว ออกซิเจนมีน้อยมาก คนส่วนใหญ่ก็สามารถเดินขึ้นไปได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนก็ต้องจ้างไกด์นำทางและเป็นผู้ดูแลขึ้นไปด้วยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ข้อควรปฏิบัติก็คือ “ปีนฟูจิซังอย่างเดียว” ห้ามไปแตะต้องหรือทำลายธรรมชาติข้างบน ขึ้นไปยังไงก็กลับมาอย่างนั้น เอาอะไรขึ้นไปด้วยเอาลงมาให้ครบ ห้ามทิ้งขยะ (ข้างบนไม่มีถังขยะสาธารณะให้นะคะ) ห้ามเด็ดต้นไม้ใบไม้ ห้ามเก็บก้อนหิน ห้ามกางเต็นท์ โดยทางญี่ปุ่นให้เราจ่ายค่าปีนภูเขาไฟฟูจิ ประมาณ 1,000 เยนตรงสถานีชั้น 5 เป็นเหมือนเงินค่าดูแลภูเขาไฟฟูจิ เพราะในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนมากที่ขึ้นไปปีนฟูจิซัง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมือนเดิมและคงความสมบูรณ์ไว้ และเพื่อช่วยอนุรักษ์มรดกโลกชิ้นนี้ให้คงอยู่ตลอดไป เราจำเป็นต้องช่วยกันตรงนี้นิดนึงค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ก่อนปีนฟูจิซัง สภาพร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราแข็งแรง สมบูรณ์ เพียงพอที่จะปีนภูเขาไฟฟูจิในสภาพอากาศเบาบางและสูงชัน ต้องไม่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน ไม่ควรฝืนไปปีนนะคะ เพราะถ้าเราไปเจ็บป่วยบนฟูจิซัง ไม่สนุกเลยค่ะ ข้อมูลจริงๆ คือมีผู้เสียชีวิตบนภูเขาไฟฟูจิจำนวนไม่น้อยนะคะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คิดว่าใครก็ปีนได้ ถ้ารู้สึกไม่ไหวเมื่อไหร่ ต้องรีบลงมาทันที ในแต่ละสถานี จะมีจุดทางลัด (Short Cut) ทางลัดลงสู่ชั้น 5 ได้เป็นระยะๆ ค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เดินมาถึงชั้น 6 เริ่มหนาวแล้ว ต้องใส่เสื้อหนาวกันเต็มอัตราศึก เสื้อผ้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก สำหรับคนไทยเรา เวลาไปปีนเขาเรามักจะใส่ชุดที่บางเบาระบายเหงื่อ แต่ที่ภูเขาไฟฟูจิแม้ว่าจะเป็นหน้าร้อนแต่หนาวมากค่ะ ไม่มีเหงื่ออออกสักหยดแม้จะเหนื่อยเท่าไหร่ พอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า อากาศจะหนาวแบบสุดๆ ที่สำคัญลมแรงมาก ย้ำว่ามากจริงๆ ค่ะ หนาวแค่ไหนก็น่าจะต่ำกว่า 0 องศาในบางจุดค่ะ เสื้อกันฝนจำเป็นนะคะ หรือให้ใส่เสื้อหนาวที่เป็นลักษณะกันน้ำได้

Credit: ผู้เขียน

ส่วนถุงมือก็จำเป็นมาก ถ้าไม่มีถุงมือคือตายค่ะ เราซื้อเสื้อสกีหิมะให้คุณแฟนใส่ ซื้อมือสองจากร้าน Hard off ไม่กี่บาทแต่อุ่นดีมาก

Credit: ผู้เขียน

ส่วนเราเองก็ใส่เสื้อหนาว หมวกไหมพรม เป็นชุดเล่นสกีหิมะเหมือนกัน ซื้อถูกๆ อาจจะไม่สวยงาม เอาไว้ใส่ครั้งเดียวจบ

Credit: ผู้เขียน

ไม้กระบองเรียวๆ ที่เห็นถือกันก็คือ ไม้ปีนเขาค่ะ มีขายที่ชั้น 5 ตรงร้านขายของที่ระลึกค่ะ เดินเข้าไปซื้อได้เลยราคาประมาณ 1,500 ถึง 2,000 เยน และมีกระดิ่งหรือธงเล็กๆ ประดับก็ราคาไม่กี่ร้อยเยนค่ะ ระหว่างทางที่ขึ้นไปในแต่ละ station จะมีการ ประทับตรา โดยการใช้เหล็กร้อนๆนาบไปกับไม้ เพื่อให้เกิดเป็นรอยไหม้เหมือนเป็นการแสตมป์ว่าเราได้มาถึงในแต่ละสถานีแล้ว เป็นสุดยอดของที่ระลึกเหมือนเป็นไม้กายสิทธิ์เลยค่ะ ช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้ลงที่เข่า และรักษาบาลานซ์การทรงตัว ผ่อนแรงได้เยอะมาก เชื่อเราให้ซื้อ 2 แท่งนะคะ

Credit: ผู้เขียน

มองลงไปเห็นความเขียวขจีและทะเลสาปด้านล่างด้วย

Credit: ผู้เขียน

ไม่ได้ถ่ายเอียงนะคะ แต่นี่คือความลาดชันที่เราต้องเจอตลอดทางค่ะ ตอนนี้ประมาณ 6 โมง-ทุ่มนึง ยังสว่างอยู่ รีบเดินต่อไปก่อนจะมืด

Credit: ผู้เขียน

ชั้น 7 แล้วค่ะ เป็นสถานีที่ 7 แวะพักทานอะไรกันก่อนดีกว่า สำหรับอาหาร เราจำเป็นจะต้องพกน้ำและอาหารไปในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ไม่ควรพกกระติกน้ำหรือข้าวกล่องที่มีน้ำหนักมากๆ ขึ้นไปนะคะ มันเป็นภาระหนักสุดๆ เมื่อคุณปีนไปถึงประมาณชั้นที่ 7 เราจะอยากโยนทุกอย่างทิ้ง ของที่เคยเบาจะกลายเป็นเป็นของที่มีน้ำหนักเหมือนหลายๆ ตันเลยแหละ เพราะเราจะเมื่อยล้า และอากาศบางเบามาก เราจะเหนื่อยง่ายค่ะ ให้ซื้อน้ำแบบที่เหมือนเจเล่ดูดๆ ที่มันเป็นแบบสารให้พลังงาน น้ำเกลือแร่และอะไรที่พออิ่มได้ ในกรณีที่หิวจะเป็นลมก็หยิบขึ้นมาทานได้ค่ะ แต่อย่าทานอิ่มมากจนจุกก็จะเดินไม่ไหว

Credit: ผู้เขียน

ที่สำคัญข้างบนฟูจิซังก็มีขายค่ะ แต่ราคาสูงหน่อยไม่เป็นไร

Credit: ผู้เขียน

เราก็ไปซื้อมาม่ากิน กาแฟกินข้างบนค่ะแต่ราคาแพงลิบลิ่ว

Credit: ผู้เขียน

ดังนั้น เงินเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้บนภูเขาไฟฟูจินะคะ ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ เราก็ต้องใช้เงินประมาณครั้งละ 300 ถึง 400 เยนค่ะ ฟังไม่ผิดค่ะ เข้าห้องน้ำ 1 ครั้งข้างบนภูเขาไฟฟูจิ ราคาร้อยกว่าบาท อย่าฉี่บ่อยค่ะ เปลือง! นอกจากนี้ข้างบนยังมีที่พักเป็น shelter หรือเป็นกระท่อมเล็กๆ สำหรับผู้ที่เดินเขาแล้วต้องการนอนพัก เราก็เช่าได้ค่ะ อัตราคิดเป็นชั่วโมง แพงอยู่ ดังนั้นพกเงินไปแนะนำว่าประมาณ 10,000 เยนขึ้นไปค่ะ พร้อมกับเหรียญและแบงค์ย่อยสำหรับเข้าห้องน้ำด้วย ห้องน้ำที่ว่านี้ไม่ใช่ห้องน้ำแบบญี่ปุ่นที่มีเครื่องอัตโนมัติล้างก้นนะคะ เป็นห้องน้ำแบบง่ายๆ เหมือนในป่าบ้านเรานี่แหละค่ะ

Credit: ผู้เขียน

อุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือไฟฉายแบบติดที่หน้าผาก จำเป็นมากนะคะเพราะบนภูเขาไฟฟูจิไม่มีไฟสองข้างทาง มืดสนิท นั่นหมายความว่าแสงสว่างเดียวที่เราได้มาก็คือแสงจากไฟฉายค่ะ แล้วเราไม่สามารถใช้ไฟฉายแบบถือได้นะคะ เนื่องจากเราจะต้องใช้สองมือในการปีนเขาค่ะ เราจะต้องถือไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงน้ำหนักตัวในจุดที่ชันและมันจะเมื่อยมากถ้าเราไม่มีไฟฉายที่ติดศีรษะ ในบางจุดจะต้องปีนขึ้นแบบใช้สองมือปีนเขา แล้วสองข้างทางมืดสนิท สิ่งที่อยู่ตรงหน้ายังไม่เห็นเลยว่าอะไรเพราะฉะนั้นไฟฉายติดศีรษะสำคัญมากๆ

Credit: ผู้เขียน

พอมาถึงชั้นที่ 7 และ 8 จะใช้เวลามากๆ ด้วยสปีดการเดินของแต่ละคนไม่เท่ากันทำให้เรากับน้องๆ ที่แข็งแรง ขอแยกย้าย converseทางใครทางมัน บอกกันว่าไม่ต้องรอกันเลย เอาไว้เจอกันที่ชั้น 5 พรุ่งนี้ ขนาดเราฟิตร่างกายวิ่งทุกวันเป็นเดือน ยังขอยอมแพ้เลยค่ะ นั่งพักก่อน ยาวไปๆ

Credit: ผู้เขียน

มองลงไปจะเห็นแสงสว่างจากเบื้อล่างและกระแสฝูงชนที่เดินกันขึ้นมาเหมือนมาทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ ขนลุกเลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เราเริ่มแยกย้ายกับเพื่อนๆ ในคณะทั้ง 9 คน มีหลายๆ คนที่ขอยกธงขาวกลับลงไปก่อนเพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย อากาศเบามากจริงๆค่ะ หายใจแล้วเหมือนไม่หายใจ เราใช้เวลานานมากๆ ในการไต่จากชั้น 7 ไปถึงชั้น 8 เรียกว่าทั้งคืนตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตี 5

Credit: ผู้เขียน

จุดนี้ล่ะค่ะที่เราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าธงชาติไทยอยู่ในเป้ของเรา ดังนั้นต้องไปต่อให้ได้ งานเข้าเต็มๆ

Credit: ผู้เขียน

ประมาณตี 5 เราก็เดินเกือบถึงยอดฟูจิซังแล้วค่ะ (คิดเอาเองว่าเกือบถึง จริงๆปแล้วอีกไกลมาก) ประมาณชั้น 8.5 แล้วขอหาอะไรทานก่อน แต่เป้าหมายของเราที่จะไปชมแสงอาทิตย์แรกบนชั้น 10 ไม่สำเร็จนะคะ ไม่ไหวจริงๆ

Credit: ผู้เขียน

เป็นกาแฟและมาม่าที่แพงที่สุดตั้งแต่เกิดมาในชีวิต…ใครอยากรู้ว่าเท่าไหร่ ขึ้นไปลองซื้อเองนะคะ (โอ๋ๆๆ ใจร้ายเกินไป ถ้วยละ 500-700 เยนค่ะ)

Credit: ผู้เขียน

วิวสวยๆ แสงแรกที่อากาศไม่ค่อยเป็นใจค่ะ ฟ้าไม่เปิด

Credit: ผู้เขียน

การปีนภูเขาไฟฟูจิจะเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นแล้วยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ช่วงพีคน่าจะเป็นช่วงวันที่ 20 กรกฎาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคมค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ส่วนช่วงพีคสุดๆ คือเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคมค่ะที่ มีความเชื่อว่าจะขึ้นไปบูชาเทพเจ้าภูเขาไฟฟูจิ เรียกกันว่าต่อแถวยาวค่อยๆ ไต่กันขึ้นไปเลยล่ะค่ะ แนะนำว่าพยายามหลีกเลี่ยงช่วงเวลาพีคดีกว่านะคะ จะไม่ต้องไปเบียดเสียดในกระแสผู้คน แล้วก็แนะนำให้ปีนในช่วงวันธรรมดา คนน้อยกว่าค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ช่างภาพส่วนใหญ่ที่ไปก็จะคอยโมเม้นท์แสงแรกกันอย่างใจจดใจจ่อ

Credit: ผู้เขียน

ฟ้าเปิดแล้ว เย้ๆ

Credit: ผู้เขียน

เราเดินต่อไปตั้งนาน จนเกือบ 9 โมงเพิ่งจะถึงสถานี 8.5 เอง นี่คือไม่ได้นอนมาทั้งคืน แล้วที่เห็นไม่ใช่รอยยิ้มแต่เป็นการฝืนยิ้มค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เดินต่อกันไปค่ะ อย่าบ่นๆ ต้องใช้สมาธิสูงมากเหมือนเดินจงกรม ตอนนี้มีแค่เรากับคุณแฟนแล้วค่ะ ถูกทิ้งท้ายขบวนของเพื่อนๆ

Credit: ผู้เขียน

ป้ายบอกว่าอีก 200 เมตรจะถึงชั้น 9 อีกนิดเดียว แต่เวลาเดินจริงๆ เหมือนสัก 20 กิโลเมตรเลย เหนื่อย ง่วง เพลีย

Credit: ผู้เขียน

นี่เรามาไกลมากเกินกว่าจะเรียกแท็กซี่กลับบ้าน

Credit: ผู้เขียน

ในขณะที่เรากำลังจะตาย…รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

Credit: ผู้เขียน

มีเด็กน้อยเดินแซงเราไปต่อหน้าต่อตาเลยค่ะ อายมาก

Credit: ผู้เขียน

อย่ารอช้า รีบหยิบอ็อกซิเจนกระป๋องออกมาสูดกันเถอะ ก่อนที่เราจะตายเสียก่อน ซื้อกันพกไว้คนละกระป๋องหรือสองกระป๋องนะคะ มันคือสิ่งที่ยื้อชีวิตมนุษย์อ้วนๆ อย่างเราไว้ได้ (หาซื้อได้ในอินเตอร์เนตและร้านอุปกรณ์ปีนเขาค่ะ)

Credit: ผู้เขียน

เดินต่อไปป้ายบอกว่าจะถึงยอดแล้วชั้น 10 Mt.Fuji Summit อีก 200 เมตรเท่านั้น (มันคืออีก 20 กิโลเมตรในความรู้สึก)

Credit: ผู้เขียน

ในที่สุดเราก็มาถึงชั้น 10 แล้วค่ะ กรีดร้อง น้ำตาไหลพรากๆ เวลาประมาณ 10 โมงเช้า (เริ่มปีนเมื่อวานตอนห้าโมงเย็นไม่ได้นอนไม่ได้พัก ท้าทายสุดๆ)

Credit: ผู้เขียน

อันดับแรกโทรหาเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เรารักมากชื่อคุณมัสสุดะกับคุณเอโกะ โทรไปก็คุยไม่รู้เรื่อง ปากคอสั่น บอกแต่ว่าเรามาถึงยอดฟูจิซังแล้วนะ สัญญาณดีนะคะ แต่เครื่องแบตหมดเร็วมากเพราะอากาศเย็นจัด กดไปมือสั่นเลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ความท้าทายขั้นต่อไปคือการไปถึงจุดที่สูงที่สุดของฟูจิซังหรือจุดที่สูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ต้องเดินต่อไปอีกรอบๆ ปากปล่องภูเขาไฟตามเส้นแดงๆ

Credit: ผู้เขียน

เอาวิวสวยๆมาฝากด้วยความทุกข์ยาก

Credit: ผู้เขียน

กว่าจะขึ้นมาถึงตรงนี้ ทรมานมากค่ะ เลยบอกว่าขอครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตพอ

Credit: ผู้เขียน

เราอยู่เหนือเมฆแล้วค่ะจุดนี้

Credit: ผู้เขียน

อยากจะกินเมฆ อยากจะกำเมฆ สะใจๆ

Credit: ผู้เขียน

บนชั้น 10 คือชั้นสูงสุดของฟูจิซัง มีร้านค้านะคะอย่าตกใจ โค้กกระป๋องละ 500 – 700 เยนประมาณนี้

Credit: ผู้เขียน

มีแคร่ให้นั่งพักผ่อนชมวิวที่สูงที่สุด แต่เมฆบังมิดเลย โชคดีจริงๆเลยเรา แสงแรกก็ไม่เห็น วิวก็โดนเมฆบัง

Credit: ผู้เขียน

ที่เห็นนั่งๆ กันไม่ใช่อะไรนะคะ คิดอยู่ว่าจะลงยังไง ขาเดี้ยงร่างพังไปเรียบร้อยแล้ว

Credit: ผู้เขียน

แต่ละคนจะนั่งตรงนี้กันไม่นานค่ะ เพราะต้องเดินต่อไปอีก บางคนก็ไปปากปล่อง บางคนก็เดินลงกลับไปชั้น 5 เลย

Credit: ผู้เขียน

พับเพียบไทยแลนด์…สวยๆ แต่หนังหน้าพังมากค่ะบอกเลย

Credit: ผู้เขียน

ก่อนที่เราจะไปปากปล่องภูเขาไฟฟูจิกันต่อ เราขอย้ำเรื่องอุปกรณ์สำคัญสำหรับปีนภูเขาไฟฟูจิ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเขา อุปกรณ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งค่ะ ซึ่งต้องมีการเตรียมหาซื้อล่วงหน้านะคะ ไม่สามารถไปซื้อเอาหน้างานได้ โดยเฉพาะรองเท้าค่ะ โยนรองเท้าผ้าใบทิ้งไปเลยนะคะ ใช้ไม่ได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น Adidas Nike หรือ Onitsuka Tiger ใส่ถังขยะเลยค่ะ รองเท้าที่ใช้ได้จริงๆ คือรองเท้าปีนเขา พื้นจะต้องเป็นหยักๆ และจิกพื้นที่เป็นหินเป็นกรวด เพราะถ้าลื่นหรือแค่เท้าพลิก เล็กน้อย ก็จะทำให้เราต้องหยุดปีนเขานะคะ เพื่อความปลอดภัยของข้อเท้าและหัวเข่าค่ะ และบางทีก็มีละอองฝนเหมือนเป็นละอองน้ำทำให้พื้นลื่น เพราะฉะนั้นรองเท้าสำคัญมากค่ะ เวลาปีนขึ้นเขาชันๆ เราซื้อรองเท้าที่ประเทศญี่ปุ่นในโซนอุปกรณ์ปีนเขาบอกพนักงานเลยว่าจะไปปีนฟูจิ พนักงานจัดให้ค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เดินชมวิวซักพัก

Credit: ผู้เขียน

พาโนรามาสวยๆ จากชั้น 10

Credit: ผู้เขียน

อย่าลืมสแตมป์ไม้เป็นที่ระลึกนะคะ จะนำไม้ปีนเขามานาบด้วยเหล็กร้อนๆ เป็นลาย ประมาณ 500 เยนถ้าจำไม่ผิด

Credit: ผู้เขียน

คุณลุงตั้งใจตีตราประทับมาก

Credit: ผู้เขียน

เอาล่ะค่ะ…เราจะไปต่อกันที่ปากปล่องภูเขาไฟฟูจิกัน ภารกิจเรายังไม่สำเร็จ…คนญี่ปุ่นที่เดินผ่านไปมาเห็นเราเป็นชาวต่างชาติก็เข้ามาทักทายและพูดคุย บอกว่าอีกไม่ไกลๆ เราต้องไปให้ถึงจุดที่สูงที่สุดนะ ไหนๆก็มาแล้ว เราก็หลงเชื่อตาม เป็นคนเชื่อคนง่ายค่ะ

Credit: ผู้เขียน

สุดยอด…กลิ่นกำมะถันแรงมาก อากาศเบามากเหมือนไม่มีออกซิเจน อารมณ์คือสูดอากาศเข้าปอดแต่เหมือนไม่มีอากาศ เหมือนสำลักน้ำ กำลังจะจมน้ำประมาณนี้ค่ะ เราว่าโหดที่สุดแล้วตรงปากปล่อง แล้วอย่าลืมว่าเราเป็นผู้หญิงอ้วนตัวเล็กๆ เท่านั้น

Credit: ผู้เขียน

โลกนี้ช่างโหดร้าย เราคิดอยู่ว่าจะกลับดีมั้ย ลงไปชั้น 5 เลย เพราะเส้นทางน่ากลัวมาก

Credit: ผู้เขียน

ทางซ้ายมือคือเหว หล่นลงไปก็ซาโยนาระเลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

แม่จ๋า…หนูอยากกลับบ้าน หนูไม่ได้นอนมาจะครบ 24 ชม. แล้ว หายใจก็ไม่ออก เป้ก็หนัก (จริงๆแล้วในเป้ไม่มีอะไรเลยนอกจากขยะที่ต้องเอาลงไปทิ้ง)

Credit: ผู้เขียน

ป้ายบอกทางไปศาลเจ้าที่สูงที่สุดศาลสุดท้ายนั่นหมายถึงเราใกล้ถึงแล้ว

Credit: ผู้เขียน

มีตะแกรงตาข่ายกันดินถล่มด้วย คือมันถล่มได้จริงๆนะ ถ้าถล่มทางฟูจิซังก็ปิดไม่ให้ปีนขึ้นไปกันนะคะ

Credit: ผู้เขียน

ถ้าจะลงไปทาง Gotemba ก็ลงไปทางนี้เลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ไปศาลเจ้าก่อนค่ะ จุดหมายนี้

Credit: ผู้เขียน

พอมาถึงศาลเจ้าสูงที่สุดก็กลายเป็นว่ามีคนจำนวนมากอยู่ที่จุดนี้ ทำไมตอนระหว่างทางเดินมาไม่เจอใครเลย

Credit: ผู้เขียน

Post card ที่เขียนไว้ได้ส่งแล้วค่ะ หย่อนตู้แดงๆ ส่งตรงไปประเทศไทยเลย เราเขียนถึงคุณพ่อคุณแม่สุดที่รักของเรา

Credit: ผู้เขียน

ชี้ให้เห็นจุดที่สูงที่สุด ปลายหินนั้นไง

Credit: ผู้เขียน

Mission เราใกล้สำเร็จแล้ว อีกนิดเดียวแต่ทางชันมาก มากจนเราต้องโน้มตัวเอียงๆไปกับพื้นแล้วไต่ๆ ตอนลงก็นั่งไถล่ลงเลยค่ะ หมดสภาพสุดๆ

Credit: ผู้เขียน

ลืมบอกไปว่าแว่นตากันแดดก็สำคัญค่ะ กันแดดจ้าๆ บนภูเขาและละอองควันกำมะถันได้เป็นอย่างดี ใบหน้าที่เห็นคือเต็มไปด้วยละอองดำๆ หน้าเยินมากพูดเลย

Credit: ผู้เขียน

เราอยู่ในจุดสีแดงๆแล้วค่ะ

Credit: ผู้เขียน

บันไดช่วงสุดท้ายก่อนจะถึงยอดสูงสุด Mt.Fuji Summit

Credit: ผู้เขียน

ขอนอนตายตรงนี้แปบนึง กว่าจะขึ้นมาได้ ที่สุดของนรกแตก

Credit: ผู้เขียน

มาถึงแล้ว ชะง่อนผาตรงนี้ที่เรียกว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดของญี่ปุ่น

Credit: ผู้เขียน

เรากลัวมากเพราะจริงๆมันสูงและมีลมนะคะ ขอเอาไม้แตะๆ พอเป็นพิธี

Credit: ผู้เขียน

มีคนนำเหรียญมาวางไว้เป็นศิริมงคล

Credit: ผู้เขียน

และตรงจุดนี้เองที่มีการติดตั้งเครื่องพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

Credit: ผู้เขียน

เสานี้เป็นการประกาศว่าจุดสูงสุดของญี่ปุ่นค่ะ

Credit: ผู้เขียน

และแล้วภารกิจพิชิตยอดฟูจิซังก็สำเร็จ เราได้นำธงชาติไทยไปสะบัดบนยอดฟูจิซัง จุดที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นแล้ว ตลอดการเดินเท้าในสภาพอากาศเบาบางกว่า 24 ชม. ขึ้นและลงเขาอย่างทรหด เราได้เล็บเท้าม่วงๆ กลับมาพร้อมสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง และความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตเด็กอ้วนๆ ที่เกลียดการเล่นกีฬาทุกชนิด เป็นการเอาชนะใจตนเองที่เหนือกว่าทุกสิ่ง เราเหมือนเป็นคนใหม่เมื่อลงมาจากยอดภูเขาไฟฟูจิ สำหรับผู้ที่สนใจจะไปปีนฟูจิซังแบบเรา มีรายละเอียดและข้อมูลให้ศึกษาก่อน สามารถเข้าไปดูได้ที่

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

About the author

riangsupod-profile_pic_image

RiangSupod

ดูบทความผู้เขียน

เลขาสาวผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมญี่ปุ่น จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์-ปริญญาโทรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เคยอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เดินทางไปทำงานและไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นบ่อยๆ ทำให้มีเพื่อนทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย
ปัจจุบันเป็นเลขานุการผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง

ถูกใจ แชร์เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาณาจักรบันเทิงครบวงจรสำหรับแฟมิลี่

สวนคาวาจิ วิสเทอเรีย การ์เดน ที่สุดของความงามแห่งดอกฟูจิ

ตื่นตาตื่นใจกับการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Enoshima Aquarium ที่เน้นแสงสีและออกแบบโดย VELVETA DESIGN

วัดเจ้าแม่กวนอิมโอสุคันนอน (Osu Kannon Temple)

แหล่งชมซากุระแนะนำ 100 อันดับของญี่ปุ่นใน จ.ฟุคุชิมะ

พิพิธภัณฑ์ป่าแก้ว (The Glass Forest Museum)

งานดอกไม้ฤดูใบไม้ผลิ “Flowering 2019” ที่สวนฮิตาจิ ซีไซด์ ปาร์ค (23 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2562)

คาริยะไฮเวย์โอเอซิสที่สุดของจุดพักรถ

ใครอยากลองใส่ชุดกิโมโน เดินเที่ยวเล่นในเมืองเก่า มาทางนี้กันเลยค่ะ