ห้องชงชาของญี่ปุ่น

2021/02/17

เวลาไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วเห็นห้องชงชาตามโรงแรม ร้านอาหารใหญ่ๆ หรือบ้านของคนญี่ปุ่น หลายคนอาจสงสัยว่าห้องชงชาคืออะไร เรามารู้จักประเพณีการชงชาและห้องชงชากันค่ะ


ห้องชงชาใช้สำหรับประกอบพิธีชงชา (เรียกว่า Chanoyu, Sado หรือเรียกง่ายๆ เลยว่า Ocha) ซึ่งถือเป็นพิธีหนึ่งที่น่าสนใจของประเทศญี่ปุ่น เป็นวัฒนธรรมในการต้อนรับ เมื่อมีแขกสำคัญจากต่างประเทศไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ในฐานะของตัวแทนของประเทศนั้นๆ


จะมีการเตรียมพิธีต้อนรับ ซึ่งพิธีชงชานั้น เป็นพิธีหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเลือกใช้ในการต้อนรับ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ เช่นกันค่ะ ภายในบ้านของคนญี่ปุ่นเอง ก็จะมีห้องชงชาอยู่ด้วยเช่นกัน ห้องชงชาภายในบ้านของคนญี่ปุ่น รองรับคนได้ประมาณ 5-6 คนเท่านั้น


ภายในจะตกแต่งด้วยรูปแขวนและแจกันอย่างละ 1 ชิ้น พื้นจะปูด้วยเสื่อทาทามิ


เมื่อถึงเวลาเข้าห้องแขกที่มาร่วมพิธีจะต้องคลานเข่าเข้าห้องทุกคน แสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ขจัดความเป็นชนชั้นอำนาจ ดังนั้นเมื่อเข้าห้องชงชาแล้ว ไม่ว่าจะมีอำนาจมากเพียงใดในโลกภายนอก แต่ในห้องชงชาทุกคนจะอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น


หลังจากที่แขกครบแล้ว ทางเจ้าบ้าน จะเริ่มพิธีชงชาและทางเจ้าบ้านจะยื่นชาที่ชงให้กับแขก ตามลำดับ


ขั้นตอนการดื่มชาซึ่งก็จะเป็นชาเขียวร้อนๆ ที่เรียกว่ามัทฉะ “Matcha” ดื่มคู่กับขนมหวานของญี่ปุ่น รสขมของชาจะตัดกับขนมหวาน


เมื่อแขกดื่มชาแล้ว แขกคนที่ 1 จะชื่นชมความงามของอุปกรณ์ชงชาที่ทางเจ้าบ้านใช้


แต่ละบ้านจะใช้อุปกรณ์ที่ดีและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ และความพิถีพิถันของคนญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญแม้กระทั่งอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยนั่นเอง


พิธีชงชาของคนญี่ปุ่นใช้หลักสมาธิของวิถีเซน จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับน้ำชาที่เราดื่มเท่านั้น หัวใจสำคัญคือสมาธิและการบรรจงชงชาจากหัวใจที่สงบ

มีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายของสังคมและเพื่อพักผ่อนภายในกรอบประเพณีของวัฒนธรรม

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

About the author

RiangSupod

ดูบทความผู้เขียน

เลขาสาวผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมญี่ปุ่น จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์-ปริญญาโทรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เคยอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เดินทางไปทำงานและไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นบ่อยๆ ทำให้มีเพื่อนทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย
ปัจจุบันเป็นเลขานุการผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง