ชิมสาเกกดตู้กว่า 120 ชนิดที่พิพิธภัณฑ์สาเก “พอนชูกัน”

2017/04/18

สาเกเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของญี่ปุ่นซึ่งมักจะดื่มกันในเทศกาลและโอกาสต่างๆ เช่น พิธีกรรมทางศาสนา เปิดตัวธุรกิจ พิธีแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่และงานเฉลิมฉลองต่างๆ

สาเกเป็นเหล้าที่ทำมาจากข้าวและข้าวที่ปลูกที่จังหวัดนีงะตะ (Niigata) ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น หมายความว่ารสชาติสาเกก็ดีเลิศด้วยเช่นกัน


เริ่มอยากลองชิมแล้วใช่ไหมคะ สาเกมีให้เลือกเยอะมาก เหมือนกับไวน์ถ้าไม่เคยลองดื่มเลยก็คงจะบอกได้ยากว่าตัวเองชอบอันไหน แถมแต่ละคนก็ชอบไม่เหมือนกันเสียด้วย แต่จะให้เปิดขวดชิมก็คงไม่ไหวแน่ๆ

ปัญหานี้หมดไปถ้ามาที่นี่ “พิพิธภัณฑ์สาเกพอนชูกัน” (Ponshukan) นั่งรถไฟไปลงที่สถานีเอชิโงะ-ยูซาวะ (Echigo Yuzawa) แล้วเดินออกมาจากชานชาลาแค่อึดใจเดียวก็ถึงแล้ว


พร้อมแล้วก็เข้าไปในร้านกันเลย สาเกที่จำหน่ายที่นี่จะเป็นแบบตู้กดทั้งหมดเลย


แต่ก่อนอื่นต้องจ่ายเงิน 500 เยนที่แคชเชียร์ก่อน


แล้วพนักงานก็จะให้ถ้วยดื่มสาเกมาหนึ่งใบพร้อมกับเหรียญไว้หยอด 5 เหรียญ คือถ้วยละ 100 เยนนั่นเอง


พอเดินเข้าไปข้างในก็จะเห็นตู้กดสาเกเรียงรายละลานตาไปหมด มีสาเกให้เลือกกว่า 120 ชนิด (ลอง 5 อย่างคงไม่พอ) เยอะขนาดนี้ เลือกยากมากๆ แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากอะไรดี ทางร้านก็มีลิสต์สาเกยอดนิยม 10 อันดับให้เลือกพร้อมเบอร์ตู้กำกับไว้จะได้ตรงดิ่งไปได้เลย


สมมติว่าเลือกอันดับ 1 “Echiko Tsurukame” ก็แค่เอาแก้ววางลงไปให้ตรงตำแหน่งหัวจ่ายแล้วก็กดปุ่มสีเหลืองก็ “คัมไป” ได้เลย


และที่ตู้ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับสาเกบอกไว้อย่างละเอียดด้วย ได้แก่ ชื่อ ชนิดของสาเก ลักษณะของรสชาติ แหล่งที่มา โลโก้ ระดับความเป็นกรด และก็บอกด้วยว่ามีขายที่ร้านหรือไม่


ชิมเสร็จแล้ว เอาถ้วยไปคืนด้วยนะคะ ถ้าอยากเมาต่อที่บ้านก็เดินไปที่ร้านขายสาเกแล้วก็เลือกซื้อรสชาติที่ชอบได้เลย


เห็นทีครั้งเดียวคงไม่พอสำหรับคอสาเก แต่อย่าชิมเยอะล่ะค่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นแบบนี้ไป

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

About the author

ออ

ดูบทความผู้เขียน

ชอบเรียนภาษา ดูหนังและชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เป็นครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติและปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นคนญี่ปุ่นเลยได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันกับชาวญี่ปุ่นเกือบทุกวัย นอกจากนี้ ก็เป็นคนเขียนบทประจำให้กับรายการ DID YOU KNOW…? และมีเพจภาษาอังกฤษบนเฟสบุ๊ค

https://www.facebook.com/English-in-the-Air-227307993959056/