ปีนภูเขาไฟฟูจิ หนึ่งในสุดยอดภารกิจพิชิตใจและกาย ปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 10 ก.ย.60

ปีนภูเขาไฟฟูจิ หนึ่งในสุดยอดภารกิจพิชิตใจและกาย ปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 10 ก.ย.60

การปีนภูเขาไฟฟูจิ หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกประหนึ่งเทพเจ้าว่า “ฟูจิซัง” ในความสูง 3,776 เมตร ถือเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ใครเคยได้สัมผัสไม่อาจลืมลงเลยในชีวิตค่ะ จนขนาดที่มีคำกล่าวต่อๆ กันมาว่า “ไปปีนฟูจิครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นความท้ายทาย” และถ้าไปครั้งที่ 2 เป็นความบ้า ส่วนถ้ามีครั้งที่ 3 นี่เสียสติเลยแหละค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เราจะขอแชร์ประสบการณ์การไปปีนฟูจิของเรามาครั้งหนึ่งและครั้งเดียวในชีวิตพอค่ะ (ไม่มีครั้งที่สองแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่บ้าขนาดนั้น ฮ่าๆ) สำหรับภูเขาไฟฟูจิถือเป็นความสวยงามที่สุด ถ้ามองจากในระยะไกลนะคะ แต่ถ้าเราได้ปีน ภูเขาไฟฟูจิและใกล้ๆแล้ว จะรู้ว่าไม่ได้สวยงามเลยค่ะ เป็นความท้าทายและเหมือนเป็นการเอาชนะใจตนเองอย่างยิ่งยวด ความสวยงามและความท้าทายนี้ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้กล้าที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติขึ้นไปสู่ยอดเขา Mt.Fuji Summit ในตอนเช้าเพื่อชมแสงอาทิตย์แรกของวันบนโลกใบนี้ และแน่นอนค่ะว่า เมื่อได้ไปถึงยอดเขาแล้วมันคุ้มค่าที่สุด

Credit: ผู้เขียน

โฉมหน้า 9 คนไทย (จริงๆ อาจจะต้องนับเป็น 10 คน เพราะมีหญิงสาวที่ตั้งครรภ์แต่ยังไม่รู้ตัวอยู่ 1 คนด้วยค่ะ) ผู้กล้าในภารกิจนำธงชาติไทยไปสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิ…โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่างานจะเข้า เพราะธงชาติอยู่ในเป้ของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ พอมารู้ตัวอีกทีเราจึงต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องนำขึ้นไปจนถึงยอดสูงที่สุดให้ได้ ก่อนขึ้นไปถึงชั้น 5 ของฟูจิ ขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกสักหน่อย

Credit: ผู้เขียน

ยืดเส้นยืดสายกันก่อน ภูเขาไฟฟูจิเปิดต้อนรับให้นักท่องเที่ยวได้ปีนภูเขา ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนกันยายนของทุกปี สำหรับปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมถึง 10 กันยายน 2560

Credit: ผู้เขียน

เราขับรถมาจอดที่ชั้น 5 ของภูเขาไฟฟูจิเรียบร้อย นำอุปกรณ์ลงมาจัดเตรียมเสร็จพร้อมลุย มีการเขียนโปสการ์ดเตรียมไว้เลย เพื่อที่ว่าเอาไว้หย่อนตอนขึ้นไปที่ยอดฟูจิในชั้น 10 จะได้ไม่เสียเวลา

Credit: ผู้เขียน

มั่นใจมากว่าจะพิชิตชั้น 10 ได้ และน้องเบิร์ดคนนี้ก็ทำได้ในเวลาที่ดีเยี่ยมจริงๆ ปรบมือให้

Credit: ผู้เขียน

ภูเขาไฟฟูจิแบ่งออกเป็นทั้งหมด 10 สถานี (Station) สถานีแรกก็คือที่ตีนภูเขาเลย จนถึงจุดสูงสุดก็คือสถานีที่ 10 รถยนต์สามารถขึ้นไปได้จนถึงสถานีที่ 5 ค่ะก็เรียกว่าไปได้ครึ่งทางของระยะทางภูเขาไฟฟูจิทั้งหมดแล้ว เอ้า…โพสต์ท่าพร้อมออกศึกใหญ่

Credit: ผู้เขียน

ขึ้นฟูจิซังไปได้หลายเส้นทางจากสถานีที่ 5 เราเลือกเส้นทางโยชิดะ (Yoshida Trail) ความสูงที่จะต้องไปต่ออีกประมาณ 2,300 เมตร ใช้เวลา 5 ถึง 7 ชั่วโมงตอนขึ้นนะคะ ขาลง 3 ถึง 5 ชั่วโมง แต่เราใช้เวลาทั้งหมด 24 ชั่วโมงไปกลับค่ะ เราอ่อนมากจริงๆ แต่ใจมันเกินร้อย สู้ซิคะรออะไร

Credit: ผู้เขียน

จุดมุ่งหมายของเราคือชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าเพื่อไปเห็นแสงแรกของวันค่ะ ออกสตาร์ทเดินขึ้นไปตอนเย็น ประมาณ 5 โมงเย็น

Credit: ผู้เขียน

เราสวนกับคนไทยอีกคณะหนึ่งที่เพิ่งลงมาจากการปีนฟูจิซังค่ะ เลยถามไถ่กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ยิ่งคุยยิ่งอยากเปลี่ยนใจ กลับบ้านทันมั้ยนะ

Credit: ผู้เขียน

แต่เป้าหมายภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเราก็คือนำธงชาติไทยขึ้นไปสะบัดอยู่บนยอดภูเขาไฟฟูจิให้ได้ นั่นคือ mission ของเราในครั้งนี้ต้องสำเร็จๆ ท่องไว้ เดินต่อไปค่ะ อากาศดีกำลังเย็นสบายๆ

Credit: ผู้เขียน

ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ไม่มีหิมะและอากาศค่อนข้างดี และบนภูเขาก็จะมีจุดพักแบบกระท่อมให้บริการนักท่องเที่ยวเปิดทำการเป็นระยะๆ ด้วยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ไม่ต้องกลัวหลงทางนะคะ มีป้ายบอกชัดเจนเป็นระยะๆ ระหว่างชั้น 5 ไปถึงชั้น 6 ยังเป็นต้นไม้เขียวชอุ่ม แต่พื้นดินเป็นดินภูเขาไฟปนกรวดหยาบๆ ไม่ได้ชุ่มชื้นเหมือนภูเขาในบ้านเรา

Credit: ผู้เขียน

บอกก่อนว่าความยากของการปีนฟูจิซัง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสกิลการปีนเขานะคะ เพราะว่ามีแค่บางจุดเท่านั้นเองที่ชันและเป็นบริเวณหินกรวด ปีนไม่ยากค่ะเพราะมีป้ายบอกทางตลอดและมีป้ายเตือนเป็นระยะๆ แต่ความยากจริงๆ อยู่ที่ความบางเบาของอากาศและความกดอากาศค่ะ โดยสภาพร่างกายของบางคนที่ไม่พร้อมก็อาจจะทนรับสภาพกดอากาศไม่ไหว ออกซิเจนมีน้อยมาก คนส่วนใหญ่ก็สามารถเดินขึ้นไปได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนก็ต้องจ้างไกด์นำทางและเป็นผู้ดูแลขึ้นไปด้วยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ข้อควรปฏิบัติก็คือ “ปีนฟูจิซังอย่างเดียว” ห้ามไปแตะต้องหรือทำลายธรรมชาติข้างบน ขึ้นไปยังไงก็กลับมาอย่างนั้น เอาอะไรขึ้นไปด้วยเอาลงมาให้ครบ ห้ามทิ้งขยะ (ข้างบนไม่มีถังขยะสาธารณะให้นะคะ) ห้ามเด็ดต้นไม้ใบไม้ ห้ามเก็บก้อนหิน ห้ามกางเต็นท์ โดยทางญี่ปุ่นให้เราจ่ายค่าปีนภูเขาไฟฟูจิ ประมาณ 1,000 เยนตรงสถานีชั้น 5 เป็นเหมือนเงินค่าดูแลภูเขาไฟฟูจิ เพราะในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนมากที่ขึ้นไปปีนฟูจิซัง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมือนเดิมและคงความสมบูรณ์ไว้ และเพื่อช่วยอนุรักษ์มรดกโลกชิ้นนี้ให้คงอยู่ตลอดไป เราจำเป็นต้องช่วยกันตรงนี้นิดนึงค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ก่อนปีนฟูจิซัง สภาพร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราแข็งแรง สมบูรณ์ เพียงพอที่จะปีนภูเขาไฟฟูจิในสภาพอากาศเบาบางและสูงชัน ต้องไม่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน ไม่ควรฝืนไปปีนนะคะ เพราะถ้าเราไปเจ็บป่วยบนฟูจิซัง ไม่สนุกเลยค่ะ ข้อมูลจริงๆ คือมีผู้เสียชีวิตบนภูเขาไฟฟูจิจำนวนไม่น้อยนะคะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คิดว่าใครก็ปีนได้ ถ้ารู้สึกไม่ไหวเมื่อไหร่ ต้องรีบลงมาทันที ในแต่ละสถานี จะมีจุดทางลัด (Short Cut) ทางลัดลงสู่ชั้น 5 ได้เป็นระยะๆ ค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เดินมาถึงชั้น 6 เริ่มหนาวแล้ว ต้องใส่เสื้อหนาวกันเต็มอัตราศึก เสื้อผ้าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก สำหรับคนไทยเรา เวลาไปปีนเขาเรามักจะใส่ชุดที่บางเบาระบายเหงื่อ แต่ที่ภูเขาไฟฟูจิแม้ว่าจะเป็นหน้าร้อนแต่หนาวมากค่ะ ไม่มีเหงื่ออออกสักหยดแม้จะเหนื่อยเท่าไหร่ พอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า อากาศจะหนาวแบบสุดๆ ที่สำคัญลมแรงมาก ย้ำว่ามากจริงๆ ค่ะ หนาวแค่ไหนก็น่าจะต่ำกว่า 0 องศาในบางจุดค่ะ เสื้อกันฝนจำเป็นนะคะ หรือให้ใส่เสื้อหนาวที่เป็นลักษณะกันน้ำได้

Credit: ผู้เขียน

ส่วนถุงมือก็จำเป็นมาก ถ้าไม่มีถุงมือคือตายค่ะ เราซื้อเสื้อสกีหิมะให้คุณแฟนใส่ ซื้อมือสองจากร้าน Hard off ไม่กี่บาทแต่อุ่นดีมาก

Credit: ผู้เขียน

ส่วนเราเองก็ใส่เสื้อหนาว หมวกไหมพรม เป็นชุดเล่นสกีหิมะเหมือนกัน ซื้อถูกๆ อาจจะไม่สวยงาม เอาไว้ใส่ครั้งเดียวจบ

Credit: ผู้เขียน

ไม้กระบองเรียวๆ ที่เห็นถือกันก็คือ ไม้ปีนเขาค่ะ มีขายที่ชั้น 5 ตรงร้านขายของที่ระลึกค่ะ เดินเข้าไปซื้อได้เลยราคาประมาณ 1,500 ถึง 2,000 เยน และมีกระดิ่งหรือธงเล็กๆ ประดับก็ราคาไม่กี่ร้อยเยนค่ะ ระหว่างทางที่ขึ้นไปในแต่ละ station จะมีการ ประทับตรา โดยการใช้เหล็กร้อนๆนาบไปกับไม้ เพื่อให้เกิดเป็นรอยไหม้เหมือนเป็นการแสตมป์ว่าเราได้มาถึงในแต่ละสถานีแล้ว เป็นสุดยอดของที่ระลึกเหมือนเป็นไม้กายสิทธิ์เลยค่ะ ช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้ลงที่เข่า และรักษาบาลานซ์การทรงตัว ผ่อนแรงได้เยอะมาก เชื่อเราให้ซื้อ 2 แท่งนะคะ

Credit: ผู้เขียน

มองลงไปเห็นความเขียวขจีและทะเลสาปด้านล่างด้วย

Credit: ผู้เขียน

ไม่ได้ถ่ายเอียงนะคะ แต่นี่คือความลาดชันที่เราต้องเจอตลอดทางค่ะ ตอนนี้ประมาณ 6 โมง-ทุ่มนึง ยังสว่างอยู่ รีบเดินต่อไปก่อนจะมืด

Credit: ผู้เขียน

ชั้น 7 แล้วค่ะ เป็นสถานีที่ 7 แวะพักทานอะไรกันก่อนดีกว่า สำหรับอาหาร เราจำเป็นจะต้องพกน้ำและอาหารไปในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ไม่ควรพกกระติกน้ำหรือข้าวกล่องที่มีน้ำหนักมากๆ ขึ้นไปนะคะ มันเป็นภาระหนักสุดๆ เมื่อคุณปีนไปถึงประมาณชั้นที่ 7 เราจะอยากโยนทุกอย่างทิ้ง ของที่เคยเบาจะกลายเป็นเป็นของที่มีน้ำหนักเหมือนหลายๆ ตันเลยแหละ เพราะเราจะเมื่อยล้า และอากาศบางเบามาก เราจะเหนื่อยง่ายค่ะ ให้ซื้อน้ำแบบที่เหมือนเจเล่ดูดๆ ที่มันเป็นแบบสารให้พลังงาน น้ำเกลือแร่และอะไรที่พออิ่มได้ ในกรณีที่หิวจะเป็นลมก็หยิบขึ้นมาทานได้ค่ะ แต่อย่าทานอิ่มมากจนจุกก็จะเดินไม่ไหว

Credit: ผู้เขียน

ที่สำคัญข้างบนฟูจิซังก็มีขายค่ะ แต่ราคาสูงหน่อยไม่เป็นไร

Credit: ผู้เขียน

เราก็ไปซื้อมาม่ากิน กาแฟกินข้างบนค่ะแต่ราคาแพงลิบลิ่ว

Credit: ผู้เขียน

ดังนั้น เงินเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้บนภูเขาไฟฟูจินะคะ ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ เราก็ต้องใช้เงินประมาณครั้งละ 300 ถึง 400 เยนค่ะ ฟังไม่ผิดค่ะ เข้าห้องน้ำ 1 ครั้งข้างบนภูเขาไฟฟูจิ ราคาร้อยกว่าบาท อย่าฉี่บ่อยค่ะ เปลือง! นอกจากนี้ข้างบนยังมีที่พักเป็น shelter หรือเป็นกระท่อมเล็กๆ สำหรับผู้ที่เดินเขาแล้วต้องการนอนพัก เราก็เช่าได้ค่ะ อัตราคิดเป็นชั่วโมง แพงอยู่ ดังนั้นพกเงินไปแนะนำว่าประมาณ 10,000 เยนขึ้นไปค่ะ พร้อมกับเหรียญและแบงค์ย่อยสำหรับเข้าห้องน้ำด้วย ห้องน้ำที่ว่านี้ไม่ใช่ห้องน้ำแบบญี่ปุ่นที่มีเครื่องอัตโนมัติล้างก้นนะคะ เป็นห้องน้ำแบบง่ายๆ เหมือนในป่าบ้านเรานี่แหละค่ะ

Credit: ผู้เขียน

อุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือไฟฉายแบบติดที่หน้าผาก จำเป็นมากนะคะเพราะบนภูเขาไฟฟูจิไม่มีไฟสองข้างทาง มืดสนิท นั่นหมายความว่าแสงสว่างเดียวที่เราได้มาก็คือแสงจากไฟฉายค่ะ แล้วเราไม่สามารถใช้ไฟฉายแบบถือได้นะคะ เนื่องจากเราจะต้องใช้สองมือในการปีนเขาค่ะ เราจะต้องถือไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงน้ำหนักตัวในจุดที่ชันและมันจะเมื่อยมากถ้าเราไม่มีไฟฉายที่ติดศีรษะ ในบางจุดจะต้องปีนขึ้นแบบใช้สองมือปีนเขา แล้วสองข้างทางมืดสนิท สิ่งที่อยู่ตรงหน้ายังไม่เห็นเลยว่าอะไรเพราะฉะนั้นไฟฉายติดศีรษะสำคัญมากๆ

Credit: ผู้เขียน

พอมาถึงชั้นที่ 7 และ 8 จะใช้เวลามากๆ ด้วยสปีดการเดินของแต่ละคนไม่เท่ากันทำให้เรากับน้องๆ ที่แข็งแรง ขอแยกย้าย converseทางใครทางมัน บอกกันว่าไม่ต้องรอกันเลย เอาไว้เจอกันที่ชั้น 5 พรุ่งนี้ ขนาดเราฟิตร่างกายวิ่งทุกวันเป็นเดือน ยังขอยอมแพ้เลยค่ะ นั่งพักก่อน ยาวไปๆ

Credit: ผู้เขียน

มองลงไปจะเห็นแสงสว่างจากเบื้อล่างและกระแสฝูงชนที่เดินกันขึ้นมาเหมือนมาทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ ขนลุกเลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เราเริ่มแยกย้ายกับเพื่อนๆ ในคณะทั้ง 9 คน มีหลายๆ คนที่ขอยกธงขาวกลับลงไปก่อนเพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย อากาศเบามากจริงๆค่ะ หายใจแล้วเหมือนไม่หายใจ เราใช้เวลานานมากๆ ในการไต่จากชั้น 7 ไปถึงชั้น 8 เรียกว่าทั้งคืนตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตี 5

Credit: ผู้เขียน

จุดนี้ล่ะค่ะที่เราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าธงชาติไทยอยู่ในเป้ของเรา ดังนั้นต้องไปต่อให้ได้ งานเข้าเต็มๆ

Credit: ผู้เขียน

ประมาณตี 5 เราก็เดินเกือบถึงยอดฟูจิซังแล้วค่ะ (คิดเอาเองว่าเกือบถึง จริงๆปแล้วอีกไกลมาก) ประมาณชั้น 8.5 แล้วขอหาอะไรทานก่อน แต่เป้าหมายของเราที่จะไปชมแสงอาทิตย์แรกบนชั้น 10 ไม่สำเร็จนะคะ ไม่ไหวจริงๆ

Credit: ผู้เขียน

เป็นกาแฟและมาม่าที่แพงที่สุดตั้งแต่เกิดมาในชีวิต…ใครอยากรู้ว่าเท่าไหร่ ขึ้นไปลองซื้อเองนะคะ (โอ๋ๆๆ ใจร้ายเกินไป ถ้วยละ 500-700 เยนค่ะ)

Credit: ผู้เขียน

วิวสวยๆ แสงแรกที่อากาศไม่ค่อยเป็นใจค่ะ ฟ้าไม่เปิด

Credit: ผู้เขียน

การปีนภูเขาไฟฟูจิจะเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นแล้วยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ช่วงพีคน่าจะเป็นช่วงวันที่ 20 กรกฎาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคมค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ส่วนช่วงพีคสุดๆ คือเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคมค่ะที่ มีความเชื่อว่าจะขึ้นไปบูชาเทพเจ้าภูเขาไฟฟูจิ เรียกกันว่าต่อแถวยาวค่อยๆ ไต่กันขึ้นไปเลยล่ะค่ะ แนะนำว่าพยายามหลีกเลี่ยงช่วงเวลาพีคดีกว่านะคะ จะไม่ต้องไปเบียดเสียดในกระแสผู้คน แล้วก็แนะนำให้ปีนในช่วงวันธรรมดา คนน้อยกว่าค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ช่างภาพส่วนใหญ่ที่ไปก็จะคอยโมเม้นท์แสงแรกกันอย่างใจจดใจจ่อ

Credit: ผู้เขียน

ฟ้าเปิดแล้ว เย้ๆ

Credit: ผู้เขียน

เราเดินต่อไปตั้งนาน จนเกือบ 9 โมงเพิ่งจะถึงสถานี 8.5 เอง นี่คือไม่ได้นอนมาทั้งคืน แล้วที่เห็นไม่ใช่รอยยิ้มแต่เป็นการฝืนยิ้มค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เดินต่อกันไปค่ะ อย่าบ่นๆ ต้องใช้สมาธิสูงมากเหมือนเดินจงกรม ตอนนี้มีแค่เรากับคุณแฟนแล้วค่ะ ถูกทิ้งท้ายขบวนของเพื่อนๆ

Credit: ผู้เขียน

ป้ายบอกว่าอีก 200 เมตรจะถึงชั้น 9 อีกนิดเดียว แต่เวลาเดินจริงๆ เหมือนสัก 20 กิโลเมตรเลย เหนื่อย ง่วง เพลีย

Credit: ผู้เขียน

นี่เรามาไกลมากเกินกว่าจะเรียกแท็กซี่กลับบ้าน

Credit: ผู้เขียน

ในขณะที่เรากำลังจะตาย…รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

Credit: ผู้เขียน

มีเด็กน้อยเดินแซงเราไปต่อหน้าต่อตาเลยค่ะ อายมาก

Credit: ผู้เขียน

อย่ารอช้า รีบหยิบอ็อกซิเจนกระป๋องออกมาสูดกันเถอะ ก่อนที่เราจะตายเสียก่อน ซื้อกันพกไว้คนละกระป๋องหรือสองกระป๋องนะคะ มันคือสิ่งที่ยื้อชีวิตมนุษย์อ้วนๆ อย่างเราไว้ได้ (หาซื้อได้ในอินเตอร์เนตและร้านอุปกรณ์ปีนเขาค่ะ)

Credit: ผู้เขียน

เดินต่อไปป้ายบอกว่าจะถึงยอดแล้วชั้น 10 Mt.Fuji Summit อีก 200 เมตรเท่านั้น (มันคืออีก 20 กิโลเมตรในความรู้สึก)

Credit: ผู้เขียน

ในที่สุดเราก็มาถึงชั้น 10 แล้วค่ะ กรีดร้อง น้ำตาไหลพรากๆ เวลาประมาณ 10 โมงเช้า (เริ่มปีนเมื่อวานตอนห้าโมงเย็นไม่ได้นอนไม่ได้พัก ท้าทายสุดๆ)

Credit: ผู้เขียน

อันดับแรกโทรหาเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เรารักมากชื่อคุณมัสสุดะกับคุณเอโกะ โทรไปก็คุยไม่รู้เรื่อง ปากคอสั่น บอกแต่ว่าเรามาถึงยอดฟูจิซังแล้วนะ สัญญาณดีนะคะ แต่เครื่องแบตหมดเร็วมากเพราะอากาศเย็นจัด กดไปมือสั่นเลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ความท้าทายขั้นต่อไปคือการไปถึงจุดที่สูงที่สุดของฟูจิซังหรือจุดที่สูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ต้องเดินต่อไปอีกรอบๆ ปากปล่องภูเขาไฟตามเส้นแดงๆ

Credit: ผู้เขียน

เอาวิวสวยๆมาฝากด้วยความทุกข์ยาก

Credit: ผู้เขียน

กว่าจะขึ้นมาถึงตรงนี้ ทรมานมากค่ะ เลยบอกว่าขอครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตพอ

Credit: ผู้เขียน

เราอยู่เหนือเมฆแล้วค่ะจุดนี้

Credit: ผู้เขียน

อยากจะกินเมฆ อยากจะกำเมฆ สะใจๆ

Credit: ผู้เขียน

บนชั้น 10 คือชั้นสูงสุดของฟูจิซัง มีร้านค้านะคะอย่าตกใจ โค้กกระป๋องละ 500 – 700 เยนประมาณนี้

Credit: ผู้เขียน

มีแคร่ให้นั่งพักผ่อนชมวิวที่สูงที่สุด แต่เมฆบังมิดเลย โชคดีจริงๆเลยเรา แสงแรกก็ไม่เห็น วิวก็โดนเมฆบัง

Credit: ผู้เขียน

ที่เห็นนั่งๆ กันไม่ใช่อะไรนะคะ คิดอยู่ว่าจะลงยังไง ขาเดี้ยงร่างพังไปเรียบร้อยแล้ว

Credit: ผู้เขียน

แต่ละคนจะนั่งตรงนี้กันไม่นานค่ะ เพราะต้องเดินต่อไปอีก บางคนก็ไปปากปล่อง บางคนก็เดินลงกลับไปชั้น 5 เลย

Credit: ผู้เขียน

พับเพียบไทยแลนด์…สวยๆ แต่หนังหน้าพังมากค่ะบอกเลย

Credit: ผู้เขียน

ก่อนที่เราจะไปปากปล่องภูเขาไฟฟูจิกันต่อ เราขอย้ำเรื่องอุปกรณ์สำคัญสำหรับปีนภูเขาไฟฟูจิ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเขา อุปกรณ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งค่ะ ซึ่งต้องมีการเตรียมหาซื้อล่วงหน้านะคะ ไม่สามารถไปซื้อเอาหน้างานได้ โดยเฉพาะรองเท้าค่ะ โยนรองเท้าผ้าใบทิ้งไปเลยนะคะ ใช้ไม่ได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น Adidas Nike หรือ Onitsuka Tiger ใส่ถังขยะเลยค่ะ รองเท้าที่ใช้ได้จริงๆ คือรองเท้าปีนเขา พื้นจะต้องเป็นหยักๆ และจิกพื้นที่เป็นหินเป็นกรวด เพราะถ้าลื่นหรือแค่เท้าพลิก เล็กน้อย ก็จะทำให้เราต้องหยุดปีนเขานะคะ เพื่อความปลอดภัยของข้อเท้าและหัวเข่าค่ะ และบางทีก็มีละอองฝนเหมือนเป็นละอองน้ำทำให้พื้นลื่น เพราะฉะนั้นรองเท้าสำคัญมากค่ะ เวลาปีนขึ้นเขาชันๆ เราซื้อรองเท้าที่ประเทศญี่ปุ่นในโซนอุปกรณ์ปีนเขาบอกพนักงานเลยว่าจะไปปีนฟูจิ พนักงานจัดให้ค่ะ

Credit: ผู้เขียน

เดินชมวิวซักพัก

Credit: ผู้เขียน

พาโนรามาสวยๆ จากชั้น 10

Credit: ผู้เขียน

อย่าลืมสแตมป์ไม้เป็นที่ระลึกนะคะ จะนำไม้ปีนเขามานาบด้วยเหล็กร้อนๆ เป็นลาย ประมาณ 500 เยนถ้าจำไม่ผิด

Credit: ผู้เขียน

คุณลุงตั้งใจตีตราประทับมาก

Credit: ผู้เขียน

เอาล่ะค่ะ…เราจะไปต่อกันที่ปากปล่องภูเขาไฟฟูจิกัน ภารกิจเรายังไม่สำเร็จ…คนญี่ปุ่นที่เดินผ่านไปมาเห็นเราเป็นชาวต่างชาติก็เข้ามาทักทายและพูดคุย บอกว่าอีกไม่ไกลๆ เราต้องไปให้ถึงจุดที่สูงที่สุดนะ ไหนๆก็มาแล้ว เราก็หลงเชื่อตาม เป็นคนเชื่อคนง่ายค่ะ

Credit: ผู้เขียน

สุดยอด…กลิ่นกำมะถันแรงมาก อากาศเบามากเหมือนไม่มีออกซิเจน อารมณ์คือสูดอากาศเข้าปอดแต่เหมือนไม่มีอากาศ เหมือนสำลักน้ำ กำลังจะจมน้ำประมาณนี้ค่ะ เราว่าโหดที่สุดแล้วตรงปากปล่อง แล้วอย่าลืมว่าเราเป็นผู้หญิงอ้วนตัวเล็กๆ เท่านั้น

Credit: ผู้เขียน

โลกนี้ช่างโหดร้าย เราคิดอยู่ว่าจะกลับดีมั้ย ลงไปชั้น 5 เลย เพราะเส้นทางน่ากลัวมาก

Credit: ผู้เขียน

ทางซ้ายมือคือเหว หล่นลงไปก็ซาโยนาระเลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

แม่จ๋า…หนูอยากกลับบ้าน หนูไม่ได้นอนมาจะครบ 24 ชม. แล้ว หายใจก็ไม่ออก เป้ก็หนัก (จริงๆแล้วในเป้ไม่มีอะไรเลยนอกจากขยะที่ต้องเอาลงไปทิ้ง)

Credit: ผู้เขียน

ป้ายบอกทางไปศาลเจ้าที่สูงที่สุดศาลสุดท้ายนั่นหมายถึงเราใกล้ถึงแล้ว

Credit: ผู้เขียน

มีตะแกรงตาข่ายกันดินถล่มด้วย คือมันถล่มได้จริงๆนะ ถ้าถล่มทางฟูจิซังก็ปิดไม่ให้ปีนขึ้นไปกันนะคะ

Credit: ผู้เขียน

ถ้าจะลงไปทาง Gotemba ก็ลงไปทางนี้เลยค่ะ

Credit: ผู้เขียน

ไปศาลเจ้าก่อนค่ะ จุดหมายนี้

Credit: ผู้เขียน

พอมาถึงศาลเจ้าสูงที่สุดก็กลายเป็นว่ามีคนจำนวนมากอยู่ที่จุดนี้ ทำไมตอนระหว่างทางเดินมาไม่เจอใครเลย

Credit: ผู้เขียน

Post card ที่เขียนไว้ได้ส่งแล้วค่ะ หย่อนตู้แดงๆ ส่งตรงไปประเทศไทยเลย เราเขียนถึงคุณพ่อคุณแม่สุดที่รักของเรา

Credit: ผู้เขียน

ชี้ให้เห็นจุดที่สูงที่สุด ปลายหินนั้นไง

Credit: ผู้เขียน

Mission เราใกล้สำเร็จแล้ว อีกนิดเดียวแต่ทางชันมาก มากจนเราต้องโน้มตัวเอียงๆไปกับพื้นแล้วไต่ๆ ตอนลงก็นั่งไถล่ลงเลยค่ะ หมดสภาพสุดๆ

Credit: ผู้เขียน

ลืมบอกไปว่าแว่นตากันแดดก็สำคัญค่ะ กันแดดจ้าๆ บนภูเขาและละอองควันกำมะถันได้เป็นอย่างดี ใบหน้าที่เห็นคือเต็มไปด้วยละอองดำๆ หน้าเยินมากพูดเลย

Credit: ผู้เขียน

เราอยู่ในจุดสีแดงๆแล้วค่ะ

Credit: ผู้เขียน

บันไดช่วงสุดท้ายก่อนจะถึงยอดสูงสุด Mt.Fuji Summit

Credit: ผู้เขียน

ขอนอนตายตรงนี้แปบนึง กว่าจะขึ้นมาได้ ที่สุดของนรกแตก

Credit: ผู้เขียน

มาถึงแล้ว ชะง่อนผาตรงนี้ที่เรียกว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดของญี่ปุ่น

Credit: ผู้เขียน

เรากลัวมากเพราะจริงๆมันสูงและมีลมนะคะ ขอเอาไม้แตะๆ พอเป็นพิธี

Credit: ผู้เขียน

มีคนนำเหรียญมาวางไว้เป็นศิริมงคล

Credit: ผู้เขียน

และตรงจุดนี้เองที่มีการติดตั้งเครื่องพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

Credit: ผู้เขียน

เสานี้เป็นการประกาศว่าจุดสูงสุดของญี่ปุ่นค่ะ

Credit: ผู้เขียน

และแล้วภารกิจพิชิตยอดฟูจิซังก็สำเร็จ เราได้นำธงชาติไทยไปสะบัดบนยอดฟูจิซัง จุดที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นแล้ว ตลอดการเดินเท้าในสภาพอากาศเบาบางกว่า 24 ชม. ขึ้นและลงเขาอย่างทรหด เราได้เล็บเท้าม่วงๆ กลับมาพร้อมสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง และความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตเด็กอ้วนๆ ที่เกลียดการเล่นกีฬาทุกชนิด เป็นการเอาชนะใจตนเองที่เหนือกว่าทุกสิ่ง เราเหมือนเป็นคนใหม่เมื่อลงมาจากยอดภูเขาไฟฟูจิ สำหรับผู้ที่สนใจจะไปปีนฟูจิซังแบบเรา มีรายละเอียดและข้อมูลให้ศึกษาก่อน สามารถเข้าไปดูได้ที่

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

About the author

riangsupod-profile_pic_image

RiangSupod

ดูบทความผู้เขียน

เลขาสาวผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรมญี่ปุ่น จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์-ปริญญาโทรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เคยอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เดินทางไปทำงานและไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นบ่อยๆ ทำให้มีเพื่อนทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย
ปัจจุบันเป็นเลขานุการผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง

ถูกใจ แชร์เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมพิพิธภัณฑ์กล้องสลับลาย (Mangekyo) และสร้างกล้องสลับลายของตัวเอง

เทศกาลดอกพิงค์มอสที่สวน Hitsujiyama 14 เม.ย.-7 พ.ค.2017

เที่ยวหมู่บ้านโกคายามะ อีกหนึ่งในมรดกโลกของญี่ปุ่น

พาไปประดิษฐ์บมโบริ (โคมประดับ) ที่จ.ยามางาตะ

ชมดอกนาโนฮานะนับล้านที่เมืองทาฮาระ

ร้านน้ำหอม “La Maison de Parfum” (ลาเมซงเดอเพอร์ฟูม) ในป่าแห่งเสียงดนตรีคาวากุจิโกะ

มาชมความสวยงามของเทศกาลประดับไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นกัน

หมู่บ้านจิ้งจอกที่ซาโอ จังหวัดมิยางิ (Zaou fox village)

เทศกาลดอกไฮเดรนเยีย “คาทาฮาระออนเซ็น” ตลอดเดือน